วันพุธที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ล่องคลองมหาสวัสดิ์

เช้าตรู่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2553 ผมขับรถไปตามถนนด้านหลังมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา มุ่งไปทางอำเภอนครชัยศรี ประมาณ 4 กิโลเมตร ถึงวัดสุวรรณ อยู่ริมคลองมหาสวัสดิ์ ไปพบคณาจารย์และนักศึกษารังสีเทคนิคชั้นปีที่ 2 ภาควิชารังสีเทคนิค คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งนัดหมายกันไว้ พอถึงก็พบ ผศ.ศิริพร รศ.ดร.จิราภรณ์ อ.ดร.นวลเพ็ญ อ.ดร.ยุทธพล อ.สัมฤทธิ์ คุณธนธร วันนี้เหล่าคณาจารย์ซึ่งรับผิดชอบการสอนวิชา Transformative Learning สำหรับนักรังสีเทคนิค เพิ่งเปิดสอนในปีการศึกษานี้เป็นปีแรก ได้จัดกิจกรรมการเรียนรู้นอกสถานที่ ให้นักศึกษาได้มีโอกาสสัมผัสกับธรรมชาติ สัมผัสชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านในละแวกคลองมหาสวัสดิ์ เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้ว่าความสุขคืออะไร



เมื่อมาพร้อมหน้าพร้อมตากันแล้ว เป็นเวลาที่แสงอาทิตย์เริ่มจัดจ้านมากขึ้น พวกเราก็เตรียมลงเรือหางยาวขนาด 6-7 ที่นั่ง จำนวน 12 ลำ กำนันท้องที่เป็นคนจัดเตรียมไว้ให้ และเพื่อความปลอดภัยทุกคนถูกขอร้องให้สวมเสื้อชูชีพ ซึ่งทุกคนก็เต็มใจแม้อากาศเริ่มร้อนเพราะแสงอาทิตย์เริ่มแรงทั้งที่น่าจะเป็นฤดูหนาวแล้ว ใส่เสื้อชูชีพยิ่งเพิ่มความอบอ้าวขึ้นอีก แต่ทุกคนก็มีหน้าตาแจ่มใส และกระหายที่จะได้ลงเรือเพื่อเดินทางไปยังจุดหมายที่กำหนดไว้ต่อไป เราแบ่งเรือเป็น 3 กลุ่มๆละ 4 ลำ แต่ละกลุ่มแยกไปชมชุมชนต่างกัน คือ ชุมชนไร่นาสวนผสม ชุมชนบ้านศาลาดิน ชุมชนบ้านกล้วยไม้ และนาบัวซึ่งเป็นที่สุดท้ายที่เรือทุกลำจะมาส่งให้พวกเรารวมกันเพื่อรับประทานอาหารกลางวัน



คนขับเรือมีทั้งหญิงและชายวัยกลางคนขึ้นไป เป็นชาวบ้านในละแวกนั้น  มีความชำนาญในการบังคับเรือสูงมาก ความชำนาญนี้เกิดจากการบังคับเรือบ่อยๆทุกวัน แรกๆขับก็คงขับเรือเป๋ไปมาหรือเกยตลิ่งบ้างล่ะ แต่ใช้ประสพการณ์สอนตัวเองจนทำได้ดีด้วย แววตาของคนขับเรือมีประกายความสุขฉายออกมาให้เห็นชนิดที่เราไม่ต้องตั้งใจมอง ระหว่างที่ขับเรือไปคนขับจะเล่าเรื่องราวต่างๆ ที่เป็นเกร็ดความรู้เกี่ยวกับความเป็นมาของคลองมหาสวัสดิ์และชุมชนสองฝั่งคลอง ด้วยน้ำเสียงและสำเนียงแบบชาวบ้านในชนบท น้ำเสียงแสดงออกถึงความเต็มใจและภูมิใจ ที่อยากจะให้แขกที่มาเยือนอย่างพวกเราได้รับรู้ ก็จึงได้รู้ว่าคลองมหาสวัสดิ์เป็นคลองที่ขุดขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ไม่ได้เกิดตามธรรมชาติ เพื่อช่วยร่นระยะการเดินทางไปนครปฐมในสมัยนั้นที่ต้องเดินทางด้วยเรือ เรือพาพวกเราแล่นไปตามคลองมหาสวัสดิ์ซึ่งระดับน้ำในคลองดูยังสูงอยู่และคลื่นไม่แรง ใช้เวลาเดินทางไปยังแต่ละชุมชนไม่นานนัก


ที่ชุมชนไร่นาสวนผสมพื้นที่กว้างมากประมาณไม่ต่ำกว่า 40 ไร่ มีป้าแจ๋วให้การต้อนรับ และรับรองด้วยผลไม้สดและดอง ป้าแจ๋วเล่าเรื่องราวต่างๆให้พวกเราฟังอย่างมีความสุข ที่นี่พวกเราได้มีโอกาสนั่งรถอีแต๋นเพื่อชมไร่นา สวนผลไม้ และแปลงปลูกพืชนานาพันธ์ ป้าแจ๋วท้าพวกเราว่า หากใครนั่งรถอีแต๋นคันนี้แล้วไม่หัวเราะจะคืนเงินให้ พวกเราก็คิดในใจว่า นั่งรถอีแต๋นมันจะมีอะไรนักหนา ก็แค่ขับไปตามทางคันนาแนวสวนและคลองซอย วนไปมาแล้วก็กลับ แต่สิ่งที่คิดไว้มันไม่ใช่เลย มันไม่ธรรมดาจริงๆ ช่วงที่นั่งรถอีแต๋นนี่แหละที่ทำให้พวกเราทุกคนต้องร้องกรี๊ดออกมาพร้อมๆกันเป็นระยะระหว่างที่รถเคลื่อนที่ไป เร็วบ้าง ช้าบ้าง ยิ่งตอนเข้าโค้งกรี๊ดกันดังที่สุด แต่สนุกมาก และค่อนข้างโล่งอกที่รอดมาได้ ส่วนลุงที่ขับรถอีแต๋นแกอมยิ้มแก้มตุ่ยด้วยความพอใจที่ทำงานได้ผลสัมฤทธิ์ดีเยี่ยม

ที่ชุมชนศาลาดิน มีร้านขายเสื้อผ้าขนาดเล็กที่เน้นความคิดเรื่องเกี่ยวกับตูด มีการสาธิตการทำข้าวตัง การทำกล้วยอบพลังงานแสงอาทิตย์จากโรงอบปลอดแมลงและฝุ่น  ที่นี่พวกเราได้มีโอกาสทอดข้าวตังรับประทานกันทันทีสดๆ แม่บ้านที่ชุมชนแห่งนี้ก็บรรยายถึงประวัติความเป็นมาของชุมชน ระหว่างที่นักศึกษาก็ง่วนกับการทอดข้าวตัง






ที่ชุมชนสวนกล้วยไม้ มีเรือนกล้วยไม้นานาพันธ์จำนวนมาก มีพื้นที่ประมาณ 12 ไร่ เป็นแห่งเดียวในประเทศไทยที่มีการตัดต่อพันธ์ใหม่ เราได้เรียนรู้การเลี้ยงกล้วยไม้และการกำจัดราด้วยการเพาะรา อาจารย์บางท่านซื้อกล้วยไม้ติดมือกลับมาด้วย




ที่นาบัวมีบัวจำนวนมากขึ้นในหนองน้ำขนาด 5 ไร่ มีศาลาขนาดใหญ่จัดงานประชุมสัมมนาได้สร้างไว้เกือบกลางนาบัว ลมพัดเย็นสบายแม้จะเป็นเวลาเที่ยงแดดร้อนเปรี้ยง ที่นี่เรารับประทานข้าวกล่องผัดกระเพราหมูไข่ต้มเป็นอาหารกลางวัน ที่นาบัวนี้ เห็นบัวตามผิวน้ำทำให้นึกถึงกลอนที่ผมเคยแต่งไว้เมื่อนานมาแล้วสัก 20 ปี แล้วพูดให้นักศึกษาที่ร่วมเรือลำเดียวกันฟังว่า

ดวงอาทิตย์ส่องแสงแรงกล้า          พุ่งผ่านปัทมาบนน้ำใส
ทั้งที่ตูมแต่มองเห็นเด่นภายใน         แปลกฤทัยยัยแสงจึงแรงนัก
ดุจรังสีสาดส่องกายา               ผ่านออกมาภายในจึงประจักษ์
ธรรมชาติลิขิตไว้ประหลาดนัก         ให้ทายทักโรคได้สบายเอย

สิ้นเสียงคำกลอน นักศึกษาคนหนึ่งบอกว่า อาจารย์ไม่น่าเรียนสายวิทยาศาสตร์เลย ผมก็ได้แต่ยิ้ม

พวกเราเดินทางกลับมาที่คณะฯที่ศาลายา จากนั้นบ่ายโมงก็เริ่มการแบ่งกลุ่มเสวนาถึงสิ่งที่ได้ไปพบเห็นในช่วงเช้า โดยพิจารณาความสุขในมุมมองของชาวบ้านคืออะไร และความสุขในมุมมองของเราคืออะไร นี่แหละเป็นช่วงหนึ่งสั้นๆ ที่นักศึกษารังสีเทคนิค มหาวิทยาลัยมหิดล ชั้นปีที่ 2 ได้เรียนรู้ และหวังว่าสิ่งดีๆนี้จะปักหมุดฝังลึกลงไปในความทรงจำของทุกคนตราบนานเท่านาน

มานัส มงคลสุข

วันเสาร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ปัจฉิมนิเทศรังสีเทคนิค มอ. 2553


อาจารย์สมบัติ ประธานหลักสูตรรังสีเทคนิคต่อเนื่อง คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ขอให้ผมกล่าวกับบัณฑิตรังสีเทคนิครุ่นที่ 2 เนื่องในงานปัจฉิมนิเทศบัณฑิตวันท่ี 9 กันยายน และจะเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ในวันที่ 13 กันยายน 2553 ในฐานะอาจารย์พิเศษที่ไปสอนที่ มอ. โดยผ่านทาง Internet ครับ เทคโนโลยีช่วยให้ไม่ว่าจะไกลแค่ไหน ก็เหมือนอยู่กันใกล้ๆแค่เอื้อม

วันพุธที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

รังสีเทคนิคคืออะไร?

รังสีเทคนิค หมายถึง การกระทำใดๆต่อมนุษย์โดยใช้รังสีหรือสารกัมมันตรังสีทางการแพทย์ชนิดต่างๆ เพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรค การบำบัดโรคหรือการวิจัย ด้วยวิธีการทางรังสีวิทยา หรือการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ทางรังสีวิทยา เช่น เครื่องเอกซเรย์ธรรมดา เครื่องเอกซเรย์แบบดิจิทัล เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เครื่องอัลตราซาวนด์ เครื่องเอ็มอาร์ไอ เครื่อง SPECT เครื่อง PET เครื่องโคบอลต์-60 เป็นต้น





 วิชาชีพรังสีเทคนิค กำเนิดขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๐๘ โดยภาควิชารังสีเทคนิค คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยลัยมหิดล เป็นสถาบันแห่งแรกในประเทศไทยที่มีหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิตสาขารังสีเทคนิค ซึ่งผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิคออกไปรับใช้สังคมแล้วจนถึงปัจจุบัน (พุทธศักราช ๒๕๕๓) รวมทั้งสิ้น ๑,๕๗๐ คน  บัณฑิตรังสีเทคนิคที่ประกอบวิชาชีพรังสีเทคนิค เป็นนักรังสีเทคนิค ต้องสอบขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิค ปัจจุบันมีสถาบันที่ผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิค 7 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล เชียงใหม่ นเรศวร จุฬาฯ ขอนแก่น สงขลานครินทร์ และรามคำแหง รวมนักรังสีเทคนิคที่ขึ้นทะเบียนแล้วทั่วประเทศไทยประมาณ ๓,๐๐๐ คน ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของประเทศ




นักรังสีเทคนิค เป็นผู้ประกอบวิชาชีพรังสีเทคนิค ต้องเป็นผู้มีความรู้และสามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้องในด้านรังสีวินิจฉัย ด้านรังสีรักษา และด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์  รวมถึงการป้องกันอันตรายจากรังสี และความเป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรมและจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ

ด้านรังสีวินิจฉัย ใช้รังสีถ่ายภาพอวัยวะภายในร่างกายผู้ป่วยเพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรค เช่น การถ่ายภาพเอกซเรย์แบบธรมมดา การเอกซเรย์แบบที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์เพื่อถ่ายภาพอวัยวะต่างๆ เป็นต้น




 ด้านรังสีรักษา ใช้รังสีพลังงานสูงเพื่อรักษาโรค เช่น การรักษาโรคมะเร็งด้วยการใช้เครื่องโคบอลต์-60 เป็นต้น



ด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ การให้สารรังสีเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วยเพื่อถ่ายภาพการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายและการรักษาโรค เช่น การทำ PET Scan เป็นต้น

ถาม-ตอบ รังสีเทคนิคชุด1

สาขารังสีเทคนิคเรียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง?
การเรียนการสอนในสาขารังสีเทคนิคนั้น มุ่งที่จะสร้างบัณฑิตเข้าสู่วิชาชีพรังสีเทคนิค ซึ่งเป็นการใช้รังสีทางการแพทย์ทั้งในด้านการวินิจฉัยและรักษาโรค โดยสรุป การเรียนในสาขารังสีเทคนิค นักศึกษาจะต้องเรียนรู้และสามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้องในด้านรังสีวินิจฉัย ด้านรังสีรักษา และด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ในด้านรังสีวินิจฉัยเป็นการใช้รังสีในการวินิจฉัยโรค ตัวอย่างคือ การถ่ายภาพเอกซเรย์แบบธรมมดา การเอกซเรย์แบบที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์เพื่อถ่ายภาพ 3 มิติของอวัยวะต่างๆ เป็นต้น ด้านรังสีรักษา เรียนการใช้รังสีพลังงานสูงเพื่อรักษาโรค เช่น โรคมะเร็ง ส่วนด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์เรียนการให้สารรังสีเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วยเพื่อถ่ายภาพการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายรวมถึงการรักษาโรค

นักเรียนมัธยมปลายจากทั่วประเทศ เข้าเยี่ยมชมภาควิชารังสีเทคนิค
คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งกระทำเป็นประจำทุกปี


ถ้าเรียนสาขารังสีเทคนิค ระหว่างเรียนและทำงาน รังสีจะมีผลกระทบต่อสุขภาพตนเองมากน้อยแค่ไหน ?

ในระหว่างการเรียนนั้น นักศึกษาจะได้เรียนรู้ภาคทฤษฎีพื้นฐาน เช่น ฟิสิกส์ กายวิภาค การจัดท่า การคำนวณปริมาณรังสี ฯลฯ และที่สำคัญและขาดไม่ได้ คือ การป้องกันอันตรายจากรังสี เบื้องต้นนักศึกษาจะต้องเรียนจากเครื่องเอกซเรย์จำลองซึ่งไม่ใช้เอกซเรย์ จนมีความรู้และเข้าใจ มีทักษะในการปฏิบัติงานเพียงพอระดับหนึ่ง จึงจะได้เรียนการใช้เครื่องเอกซเรย์จริงๆ แต่นักศึกษาจะต้องมีอุปกรณ์ในการวัดรังสีประจำตัวติดกับตัวอยู่ตลอดเวลาที่เรียนในภาคปฏิบัติและฝึกงาน เป็นไปตามมาตรฐานด้านการป้องกันอันตรายจากรังสี ดังนั้นความเสี่ยงในเรื่องผลกระทบจากรังสีจึงน้อยมากหรือไม่มีเลย นอกจากนี้ ยังมีความรู้พื้นฐานด้านการแพทย์เพียงพอที่จะเป็นผู้นำในการสร้างเสริมสุขภาพให้กับบุคคลใกล้ชิดและคนรอบข้างได้ด้วย


นักศึกษาไทยและนักศึกษาภูฏาน กำลังฝึกการจัดท่าผู้ป่วย
ด้วยเครื่องเอกซเรย์จำลองเสมือนจริงทุกประการ
แต่ไม่มีเอกซเรย์ มีแต่แสงสว่างที่แทนเอกซเรย์

สำหรับผู้ทำงานในด้านรังสีเทคนิค ที่ผ่านกระบวนการเรียนที่ได้มาตรฐานมาแล้ว จะต้องสอบขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิค จากคณะกรรมการวิชาชีพรังสีเทคนิค จึงจะสามารถทำงานได้ ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่รับรองได้ว่า ผู้ประกอบวิชาชีพรังสีเทคนิคมีโอกาสน้อยมาก หรือไม่มีเลยที่จะได้รับผลกระทบจากรังสี และไม่เฉพาะตัวนักรังสีเทคนิคเท่านั้นที่จะปลอดภัยจากรังสี ผู้ป่วยที่มารับบริการด้านรังสีจากนักรังสีเทคนิคก็จะปลอดภัยจากรังสีด้วยเช่นเดียวกัน


นักรังสีเทคนิค กำลังใช้เครื่อง Bone Densitometer
เพื่อตรวจมวลกระดูกของผู้ป่วย


เรียนรังสีทำให้เป็นหมันหรือไม่??

วันจันทร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

Lab-QC X-ray-1



  นักศึกษารังสีเทคนิคมหิดลกำลังฝึกปฏิบัติการ การควบคุมคุณภาพของเครื่องเอกซเรย์ การทดสอบนี้เรียกว่า Beam and collimator alignment test เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกปฏิบัติด้านการควบคุมคุณภาพของเครื่องเอกซเรย์ ที่ใช้ถ่ายภาพผู้ป่วย เพื่อประกันว่า เครื่องเอกซเรย์ที่ใช้ถ่ายภาพผู้ป่วย มีคุณภาพได้มาตรฐาน ให้ภาพที่มีความชัดเจนและมีปริมาณรังสีในระดับปลอดภัย