วันเสาร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ปัจฉิมนิเทศรังสีเทคนิค มอ. 2553


อาจารย์สมบัติ ประธานหลักสูตรรังสีเทคนิคต่อเนื่อง คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ขอให้ผมกล่าวกับบัณฑิตรังสีเทคนิครุ่นที่ 2 เนื่องในงานปัจฉิมนิเทศบัณฑิตวันท่ี 9 กันยายน และจะเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ในวันที่ 13 กันยายน 2553 ในฐานะอาจารย์พิเศษที่ไปสอนที่ มอ. โดยผ่านทาง Internet ครับ เทคโนโลยีช่วยให้ไม่ว่าจะไกลแค่ไหน ก็เหมือนอยู่กันใกล้ๆแค่เอื้อม

วันพุธที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

รังสีเทคนิคคืออะไร?

รังสีเทคนิค หมายถึง การกระทำใดๆต่อมนุษย์โดยใช้รังสีหรือสารกัมมันตรังสีทางการแพทย์ชนิดต่างๆ เพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรค การบำบัดโรคหรือการวิจัย ด้วยวิธีการทางรังสีวิทยา หรือการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ทางรังสีวิทยา เช่น เครื่องเอกซเรย์ธรรมดา เครื่องเอกซเรย์แบบดิจิทัล เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เครื่องอัลตราซาวนด์ เครื่องเอ็มอาร์ไอ เครื่อง SPECT เครื่อง PET เครื่องโคบอลต์-60 เป็นต้น





 วิชาชีพรังสีเทคนิค กำเนิดขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๐๘ โดยภาควิชารังสีเทคนิค คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยลัยมหิดล เป็นสถาบันแห่งแรกในประเทศไทยที่มีหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิตสาขารังสีเทคนิค ซึ่งผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิคออกไปรับใช้สังคมแล้วจนถึงปัจจุบัน (พุทธศักราช ๒๕๕๓) รวมทั้งสิ้น ๑,๕๗๐ คน  บัณฑิตรังสีเทคนิคที่ประกอบวิชาชีพรังสีเทคนิค เป็นนักรังสีเทคนิค ต้องสอบขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิค ปัจจุบันมีสถาบันที่ผลิตบัณฑิตรังสีเทคนิค 7 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล เชียงใหม่ นเรศวร จุฬาฯ ขอนแก่น สงขลานครินทร์ และรามคำแหง รวมนักรังสีเทคนิคที่ขึ้นทะเบียนแล้วทั่วประเทศไทยประมาณ ๓,๐๐๐ คน ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของประเทศ




นักรังสีเทคนิค เป็นผู้ประกอบวิชาชีพรังสีเทคนิค ต้องเป็นผู้มีความรู้และสามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้องในด้านรังสีวินิจฉัย ด้านรังสีรักษา และด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์  รวมถึงการป้องกันอันตรายจากรังสี และความเป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรมและจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ

ด้านรังสีวินิจฉัย ใช้รังสีถ่ายภาพอวัยวะภายในร่างกายผู้ป่วยเพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรค เช่น การถ่ายภาพเอกซเรย์แบบธรมมดา การเอกซเรย์แบบที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์เพื่อถ่ายภาพอวัยวะต่างๆ เป็นต้น




 ด้านรังสีรักษา ใช้รังสีพลังงานสูงเพื่อรักษาโรค เช่น การรักษาโรคมะเร็งด้วยการใช้เครื่องโคบอลต์-60 เป็นต้น



ด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ การให้สารรังสีเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วยเพื่อถ่ายภาพการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายและการรักษาโรค เช่น การทำ PET Scan เป็นต้น

ถาม-ตอบ รังสีเทคนิคชุด1

สาขารังสีเทคนิคเรียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง?
การเรียนการสอนในสาขารังสีเทคนิคนั้น มุ่งที่จะสร้างบัณฑิตเข้าสู่วิชาชีพรังสีเทคนิค ซึ่งเป็นการใช้รังสีทางการแพทย์ทั้งในด้านการวินิจฉัยและรักษาโรค โดยสรุป การเรียนในสาขารังสีเทคนิค นักศึกษาจะต้องเรียนรู้และสามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้องในด้านรังสีวินิจฉัย ด้านรังสีรักษา และด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ในด้านรังสีวินิจฉัยเป็นการใช้รังสีในการวินิจฉัยโรค ตัวอย่างคือ การถ่ายภาพเอกซเรย์แบบธรมมดา การเอกซเรย์แบบที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์เพื่อถ่ายภาพ 3 มิติของอวัยวะต่างๆ เป็นต้น ด้านรังสีรักษา เรียนการใช้รังสีพลังงานสูงเพื่อรักษาโรค เช่น โรคมะเร็ง ส่วนด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์เรียนการให้สารรังสีเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วยเพื่อถ่ายภาพการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายรวมถึงการรักษาโรค

นักเรียนมัธยมปลายจากทั่วประเทศ เข้าเยี่ยมชมภาควิชารังสีเทคนิค
คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งกระทำเป็นประจำทุกปี


ถ้าเรียนสาขารังสีเทคนิค ระหว่างเรียนและทำงาน รังสีจะมีผลกระทบต่อสุขภาพตนเองมากน้อยแค่ไหน ?

ในระหว่างการเรียนนั้น นักศึกษาจะได้เรียนรู้ภาคทฤษฎีพื้นฐาน เช่น ฟิสิกส์ กายวิภาค การจัดท่า การคำนวณปริมาณรังสี ฯลฯ และที่สำคัญและขาดไม่ได้ คือ การป้องกันอันตรายจากรังสี เบื้องต้นนักศึกษาจะต้องเรียนจากเครื่องเอกซเรย์จำลองซึ่งไม่ใช้เอกซเรย์ จนมีความรู้และเข้าใจ มีทักษะในการปฏิบัติงานเพียงพอระดับหนึ่ง จึงจะได้เรียนการใช้เครื่องเอกซเรย์จริงๆ แต่นักศึกษาจะต้องมีอุปกรณ์ในการวัดรังสีประจำตัวติดกับตัวอยู่ตลอดเวลาที่เรียนในภาคปฏิบัติและฝึกงาน เป็นไปตามมาตรฐานด้านการป้องกันอันตรายจากรังสี ดังนั้นความเสี่ยงในเรื่องผลกระทบจากรังสีจึงน้อยมากหรือไม่มีเลย นอกจากนี้ ยังมีความรู้พื้นฐานด้านการแพทย์เพียงพอที่จะเป็นผู้นำในการสร้างเสริมสุขภาพให้กับบุคคลใกล้ชิดและคนรอบข้างได้ด้วย


นักศึกษาไทยและนักศึกษาภูฏาน กำลังฝึกการจัดท่าผู้ป่วย
ด้วยเครื่องเอกซเรย์จำลองเสมือนจริงทุกประการ
แต่ไม่มีเอกซเรย์ มีแต่แสงสว่างที่แทนเอกซเรย์

สำหรับผู้ทำงานในด้านรังสีเทคนิค ที่ผ่านกระบวนการเรียนที่ได้มาตรฐานมาแล้ว จะต้องสอบขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขารังสีเทคนิค จากคณะกรรมการวิชาชีพรังสีเทคนิค จึงจะสามารถทำงานได้ ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่รับรองได้ว่า ผู้ประกอบวิชาชีพรังสีเทคนิคมีโอกาสน้อยมาก หรือไม่มีเลยที่จะได้รับผลกระทบจากรังสี และไม่เฉพาะตัวนักรังสีเทคนิคเท่านั้นที่จะปลอดภัยจากรังสี ผู้ป่วยที่มารับบริการด้านรังสีจากนักรังสีเทคนิคก็จะปลอดภัยจากรังสีด้วยเช่นเดียวกัน


นักรังสีเทคนิค กำลังใช้เครื่อง Bone Densitometer
เพื่อตรวจมวลกระดูกของผู้ป่วย


เรียนรังสีทำให้เป็นหมันหรือไม่??

วันจันทร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

Lab-QC X-ray-1



  นักศึกษารังสีเทคนิคมหิดลกำลังฝึกปฏิบัติการ การควบคุมคุณภาพของเครื่องเอกซเรย์ การทดสอบนี้เรียกว่า Beam and collimator alignment test เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกปฏิบัติด้านการควบคุมคุณภาพของเครื่องเอกซเรย์ ที่ใช้ถ่ายภาพผู้ป่วย เพื่อประกันว่า เครื่องเอกซเรย์ที่ใช้ถ่ายภาพผู้ป่วย มีคุณภาพได้มาตรฐาน ให้ภาพที่มีความชัดเจนและมีปริมาณรังสีในระดับปลอดภัย