วันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ยินดีกับบัณฑิตใหม่ รังสีเทคนิคมหิดล 2553

  บัณฑิตรังสีเทคนิคมหิดลประจำปีการศึกษา 2553 เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรที่หอประชุมกองทัพเรือ ในวันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม 2554 
     บัณฑิตรังสีเทคนิคมหิดล เป็นผู้สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตร วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขารังสีเทคนิค ซึ่งภาควิชารังสีเทคนิค คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล รับผิดชอบในการดำเนินการจัดการศึกษา โดยรับนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมปลายสายวิทยาศาสตร์เข้าศึกษาเป็นเวลา 4 ปี ปีละ 60 คน โดยศึกษาที่มหาวิทยาลัยมหิดลศาลายา และวิทยาเขตศิริราช และฝึกงานวิชาชีพรังสีเทคนิคในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลชั้นนำทั้งของรัฐและเอกชน ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครร่วม 20 แห่ง
      หลักสูตรนี้ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2508 ปัจจุบันมีบัณฑิตสำเร็จการศึกษาแล้ว 1,633 คน และในปีการศึกษานี้มีบัณฑิตรังสีเทคนิคมหิดลจำนวน 63 คน








Related Link:

วันพุธที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2554

จุดเด่น วท.บ.รังสีเทคนิค มหิดล

มุ่งสร้างบัณฑิตเข้าสู่วิชาชีพรังสีเทคนิค ซึ่งเป็นการใช้รังสีทางการแพทย์ทั้งในด้านการวินิจฉัยและรักษาโรค นักศึกษาจะต้องเรียนรู้และสามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้องในด้านรังสีวินิจฉัย ด้านรังสีรักษา และด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ในด้านรังสีวินิจฉัยเป็นการใช้รังสีในการวินิจฉัยโรค เช่น การถ่ายภาพเอกซเรย์แบบธรมมดา การเอกซเรย์แบบที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์เพื่อถ่ายภาพ 3 มิติของอวัยวะต่างๆ เป็นต้น ด้านรังสีรักษา เรียนการใช้รังสีพลังงานสูงเพื่อรักษาโรค เช่น โรคมะเร็ง ส่วนด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์เรียนการให้สารรังสีเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วยเพื่อถ่ายภาพการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายรวมถึงการรักษาโรค
หลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขารังสีเทคนิค (ภาควิชารังสีเทคนิค คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล) ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาแห่งชาติ และคณะกรรมการวิชาชีพสาขารังสีเทคนิค ดังนั้น บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาแล้วจึงมีคุณสมบัติครบถ้วน สามารถสอบเพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ สาขารังสีเทคนิคได้

วันเสาร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ยุทธศาสตร์อุดมศึกษาไทยสู่ประชาคมอาเซียน 2558

ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ความเป็นประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. 2558 (ASEAN Community 2015) ตะเข็บรอยต่อระหว่างประเทศในอาเซียนทั้ง 10 ประเทศจะเจือจางลงจนอาจถึงขั้นมองไม่เห็นในอนาคต จะเกิดผลกระทบกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมต่อประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น ในส่วนของภาคการศึกษา โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษานั้น ขณะนี้ มีความชัดเจนในแนวนโยบายเกิดขึ้นแล้วจาก สกอ. (สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาแห่งชาติ)  โดย สกอ.ได้กำหนดเป็น ยุทธศาสตร์อุดมศึกษาไทยในการเตรียมความพร้อมสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. 2558” ไว้ทั้งหมด ยุทธศาสตร์  สรุปได้ดังนี้
      1.การเพิ่มขีดความสามารถของบัณฑิตให้มีคุณภาพมาตรฐานในระดับสากล กำหนดกลยุทธ์ดังนี้
         1.1พัฒนาสมรรถนะด้านการใช้ภาษาอังกฤษของนักศึกษาไทยในระดับที่ใช้การทำงานได้
         1.2พัฒนาสมรรถนะด้านการประกอบวิชาชีพและการทำงานข้ามวัฒนธรรมของบัณฑิตไทย
      2.การพัฒนาความเข้มแข็งของสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาประชาคมอาเซียน กำหนดกลยุทธ์ดังนี้
         2.1พัฒนาอาจารย์ให้มีสมรรถนะสากล
         2.2ส่งเสริมการสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาเซียนในสถาบันอุดมศึกษา
         2.3พัฒนาหลักสูตรและการเรียนการสอนให้มีคุณภาพระดับสากล
         2.4พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้มีคุณภาพระดับสากล
         2.5พัฒนาวิชาการและการวิจัยสู่ความเป็นเลิศ
         2.6พัฒนาระบบอุดมศึกษาแห่งอาเซียน
     3.การส่งเสริมบทบาทอุดมศึกษาไทยในประชาคมอาเซียน กำหนดกลยุทธ์ดังนี้
         3.1ส่งเสริมบทบาทความเป็นผู้นำของสถาบันอุดมศึกษาไทยที่เกี่ยวข้องกับสามเสาหลักในการสร้างประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเสาด้านประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน
         3.2สร้างความตระหนักในการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนและบทบาทของอุดมศึกษาไทยในการพัฒนาประชาคมอาเซียนทั้งในด้านบวกและด้านลบ
         3.3ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการศึกษาในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน
         3.4พัฒนาศูนย์ข้อมูลเกี่ยวกับสถาบันอุดมศึกษาในอาเซียน
     สกอ. ยังได้มีการกำหนดมาตรการที่ควรพิจารณาดำเนินการในแต่ละกลยุทธ์และยุทธศาสตร์ไว้ด้วย รายละเอียดจะยาวมากเกินไป ขอไม่นำมาเสนอในที่นี้ แต่ท่านสามารถศึกษาต่อได้จากลิงค์ที่อยู่ด้านล่าง
สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นมีผลทำให้หลายๆภาคส่วน โดยเฉพาะการศึกษาของประเทศไทยต้องปรับตัวครั้งใหญ่ ให้สามารถรับมือกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น บัณฑิตที่จบออกไปจะต้องเป็นอย่างไร จะมีอัตตลักษณ์เช่นไร จึงจะยืนหยัดได้ในสภาพการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้ เป็นโจทย์ที่สถาบันการศึกษาทุกแห่ง ซึ่งรวมถึงสถาบันผู้ผลิตรังสีเทคนิคทุกแห่งต้องเร่งเครื่องอย่างเต็มที่ อย่างน้อยก็ต้องเร่งมือปรับหลักสูตร ทั้งเนื้อหาและกระบวนการเรียนการสอน ให้สอดรับกับสถานะการณ์ที่กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลง
อย่างไรก็ตามโดยส่วนตัวผมเห็นว่า กลยุทธ์การพัฒนาสมรรถนะด้านการใช้ภาษาอังกฤษของนักศึกษาไทยในระดับที่ใช้การทำงานได้ กลยุทธ์การพัฒนาสมรรถนะด้านการประกอบวิชาชีพและการทำงานข้ามวัฒนธรรมของบัณฑิตไทย อาจทำให้เราเพลิดเพลินไป ฉะนั้นประการหนึ่งที่จะลืมไม่ได้คือ ต้องไม่ลืมเรื่องการปลูกฝังความเป็นไทย ต้องไม่ลืมเน้นการสื่อสารทั้งพูดและเขียนให้ผู้อื่นรู้เรื่อง หากความเป็นไทยเจือจางลงก็เป็นอันตราย หากการพูดและเขียนไม่รู้เรื่องก็เป็นอุปสรรคหรือเป็นพิษต่อการทำงาน

Related Linked: